ดำรง ลัทธพิพัฒน์ (29 สิงหาคม พ.ศ. 2475 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2528) อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดำรง เข้าสู่การเมืองโดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 พร้อมด้วยพิชัย รัตตกุล ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ดำรงเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 แทนธรรมนูญ เทียนเงินที่ลาออกจากพรรคไป ด้วยมีความขัดแย้งกับสมาชิกในพรรค
ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ดำรงถูกกล่าวหาร่วมกับชวน หลีกภัย และสุรินทร์ มาศดิตถ์ ว่าเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์
ดำรง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับสมศรี ลัทธพิพัฒน์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นชายหญิงอย่างละคน ดำรง ลัทธพิพัฒน์ถึงแก่อนิจกรรมในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ด้วยบาดแผลจากกระสุนปืนที่ศีรษะ โดยประกอบอัตวินิบาตกรรม[ต้องการอ้างอิง] ขณะนั่งรถประจำตำแหน่งมาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เนื่องจากความเครียด ภายหลัง สมัคร สุนทรเวช ซึ่งขณะนั้นเป็นคอลัมนิสต์ "มุมน้ำเงิน" ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ได้เขียนบทความว่า เขายิงตนเองให้ถึงแก่ความตายเพื่อหนีความผิดค้าเฮโรอีนข้ามประเทศ นางสมศรี ลัทธพิพัฒน์ (เกตุทัต) ภรรยา มอบหมายให้นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ ฟ้องหมิ่นประมาทสมัคร สุนทรเวชศาลฎีกามีคำตัดสินเมื่อเดือนธันวาคม 2531 ว่า นายสมัครมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ และปรับ 4,000 พัน ทั้งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ 7 วัน